วันนี้เราอยากชวนไปเปลี่ยนบรรยากาศ เดินย่านเมืองเก่าชื่นชมศิลปะ สถาปัตยกรรม และหาความรู้ในพิพิธภัณฑ์ ชมความงามที่สะท้อนเชื่อมโยงไทย-กัมพูชา อารยธรรมและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมรโบราณในยุคพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ร่องรอยของนครวัดและปราสาทบายน ณ เมืองเสียมเรียบอันเก่าแก่ ที่ส่งต่อมายังศิลปะสมัยลพบุรีและอยุธยายังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร จากนั้นไปเยี่ยมชมความอลังการของคอลเล็คชั่นผ้า สิ่งทอ และฉลองพระองค์ ที่หาดูที่ไหนไม่ได้นอกจากที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่บริเวณ “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 นอกจากพระที่นั่งและตำหนักเดิมของวัง วันนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเปิดห้องจัดแสดงนิทรรศการใหม่ในอาคาร“ประพาสพิพิธภัณฑ์” รวบรวมงานโบราณคดีและศิลปวัตถุล้ำค่าหลังพุทธศตวรรษที่ 18 กว่า 900 ชิ้น เป็นพื้นที่แห่งความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของอารยธรรมในประเทศไทย เรามาชมบางส่วนกันเลยนะคะ


งานศิลปวัตถุมากมาย ให้เราเดินทางย้อนอดีตสู่สุนทรียะจากอารยธรรมเขมร ศิลปวัตถุโบราณกำลังเล่าเรื่องราวของผู้คนและความเชื่อจากอดีตกาล

ทับหลังสลักภาพพระวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ (ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์) เป็นศิลปะเขมรแบบนครวัด สมัยพุทธศตวรรษ 17 เป็นชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมที่อยู่เหนือกรอบประตูเทวสถานในปราสาทหินนครวัด สำหรับทับหลังชิ้นนี้ พบที่ปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ ในประเทศไทย สลักเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์เหนือหลังพระยาอนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร มีดอกบัวผุดจากพระนาภี เป็นการเล่าเรื่องการสร้างโลกตามความเชื่อจากคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู

แผ่นศิลาจารึกศรีจนาศะ จารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 จะเห็นว่าภาษาทั้งสองเป็นรากฐานของภาษาชั้นสูงและภาษาราชการของภาษาไทยในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ทางภาษาที่ทำให้คิดไปถึงหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามฯ ที่เริ่มจารึกด้วยภาษาไทยโบราณตั้งแต่ พ.ศ. 1826 แต่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2376 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 โดยรัชกาลที่ 4 ขณะยังคงผนวช จารึกเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า ผู้คนส่งต่อภูมิปัญญาและความรู้กันอย่างไร้พรมแดน ความเชื่อมโยงของอารยธรรมเขมรโบราณในอักษรไทยก็เป็นประจักษ์พยานหนึ่งที่เห็นได้ชัด

รูปสลักเทวสตรี เป็นศิลปะแบบลพบุรี สร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 จากปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงถึงการแต่งกายด้วยผ้านุ่งยาวเว้าต่ำ มีริ้วทั้งผืน และมีชายเป็นรูปหางปลา คาดเข็มขัดผ้าแถบกว้าง ตามประเพณีนิยมศิลปะแบบ “บาปวน”

ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับรูปสลักนางอัปสรา นางฟ้าหรือเทพธิดาผู้รับใช้ที่คอยดูแลศาสนสถานทีจะมีให้เห็นมากมายรายรอบปราสาทหินต่าง ๆ ในกรุงเสียมเรียบ หากจะมีเพียงหนึ่งเดียวที่ยิ้มเห็นฟัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากอารมณ์ขันของช่างสลัก เป็นเสน่ห์ให้คุณค้นหาเวลาไปเที่ยวนครวัด

จากภาพสลักเครื่องนุ่งห่มโบราณสุดวิจิตร มาต่อกันที่การสร้างสรรค์ร่วมสมัยจากภูมิปัญญาต้นตำรับสู่งานฝีมือชั้นสูง เราเดินลัดเลาะไปยังหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวังสู่ “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทยและประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย ที่เปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

ภายในพื้นที่ของอาคารอิตาเลียนสีขาวสะดุดตา มีนิทรรศการฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้ชื่องาน “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” แสดงผลงานสร้างสรรค์จากผืนผ้าหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่าง ๆ เราจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการการใช้ผ้ามาสร้างงานเครื่องทรงชั้นสูงในแบบร่วมสมัย

โดยเครื่องแต่งกายและผ้าที่นำมาจัดแสดงนั้นจะจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียน โดยในปี 2566 นี้เราจะได้มีโอกาสชม นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา (A Royal Treasure: The Javanese Batik Collection of King Chulalongkorn of Siam) เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในการเสด็จเยือนชวาทั้ง 3 ครั้ง


นอกจากจะเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมแล้ว ที่นี่ถือว่าเป็นจุดเช็กอินหนึ่งที่ควรจะมาชม ผู้ชมทุกวัยสามารถเรียนรู้ถึงนัยยะของผ้า กระบวนการผลิต จัดเก็บ การอนุรักษ์ ผ่านนิทรรศการที่ออกแบบอย่างปราณีตเพื่อเปิดประสบการณ์อันน่าทึ่งผ่าน “ผ้า”

และเราสามารถสืบค้น ศิลปะวิทยาการแห่งปัก ถัก ทอ ได้แล้วที่ห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปรับโฉมใหม่ให้เราได้ดำดิ่งไปกับโลกของหนังสือเกี่ยวกับผ้าและสิ่งทอ เป็นอีกสถานที่แสนสวยที่ไม่ควรพลาดที่สุด

พิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 ที่เราเชิญชวนให้คุณสัมผัสและเรียนรู้นั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงศิลปะชั้นสูงที่ทรงคุณค่า บางทีการเดินเที่ยวครั้งนี้อาจจุดประกายให้อยากเดินทาง เพียงใช้เวลาบินแค่ 1.15 ช.ม. จากกรุงเทพฯ คุณก็สามารถมาถึงดินแดนแห่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีตอย่าง "เสียมเรียบ" ได้ด้วยความสะดวกสบาย
Photography: Chanut Husbumrer/The Royal Photographic Society Thailand (RPST)/FYI Bangkok/Paul Szewczyk
Graphic: Chanut Husbumrer