เรียลไทม์
“เรียลไทม์” ถูกใช้พูดถึงในระบบคอมพิวเตอร์ หรือกระบวนการที่สามารถส่งต่อข้อมูลที่ให้แสดงผลในทันที ระบบเรียลไทม์มีความสำคัญในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก รวมถึงโทรคมนาคม การขนส่ง การผลิต และบริการทางการเงิน ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายหุ้น ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เล่นให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วตามสภาวะตลาดอย่างปัจจุบันทันด่วน ในขณะที่ “ร่องรอย” โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ ซึ่งถูกทิ้งไว้โดยการกระทำ หรือกระบวนการเฉพาะ เรียลไทม์และร่องรอยมีความเชื่อมโยงกันในแง่ของระบบกลไก และสัมพันธ์กันโดยเฉพาะตามแต่ละบริบท ในผลงาน “Engulfing (ภาวะกลืนกิน)” ของณัฐพล ถ่ายทอดร่องรอย (Trace) ของการใช้ตรรกะเหตุผล (Logic) และอารมณ์ความรู้สึก (Emotion) อาทิ ความโลภ (Greed) และ ความกลัว (Fear) ด้วยกราฟแท่งเทียนที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในตลาดแห่งทุน และตลาดสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) โดยนำเสนอผ่านแอปพลิเคชันบนเว็บชื่อว่า “Tradingview” ที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ และสับสนความอลหม่านแบบเรียลไทม์
ความเป็นเรียลไทม์ ยังสามารถตีความไปในแง่ของความเป็นมนุษย์ ที่ยึดโยงกับการรับรู้และการตอบสนอง อันเป็นลักษณะพื้นฐานของความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้เราสามารถประมวลผลและตอบสนองต่อข้อมูลทางประสาทสัมผัสได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผลงาน “Flags of Silence and Emptiness (ธงแห่งความเงียบและความว่างเปล่า)” ของศุภพงศ์ นำเสนอความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตผ่านความเงียบ และความว่างเปล่าในพื้นที่ของโน้ตดนตรีที่ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นธงราว อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความรื่นเริงและการเฉลิมฉลอง
เรียลไทม์ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม สามารถเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมการสื่อสาร และการโต้ตอบที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผ่านสร้างปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพ ที่ทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยของการกระทำที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ผลงาน “Morphosyntopia” ของอคราส มาจากพยายามสังเกต “อาณานิคมของมด” ที่จัดการและทำงานร่วมกันในลักษณะการแบ่งงาน (Division) และการร่วมมือ (Cooperate) นำมาสู่การจำลองระบบนิเวศภายใต้สภาวะแวดล้อมอันเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ (Crisis) ผลงานเสียงและภาพเคลื่อนไหว “It Might Be Loud (เสียงที่อาจดังขึ้น)” ของรุ่งเรือง เป็นผลงานที่ตั้งอยู่บนฐานของการวิจัย ที่สำรวจการกลายเป็นเมืองสมัยใหม่ของกรุงเทพมหานคร ภายใต้ฐานคิดแบบทุนนิยม ซึ่งผสมรวมเข้ากับเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะคนต่างจังหวัดที่ต้องย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง
นิทรรศการศิลปะนี้ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนักศึกษา ในชั้นเรียน Interactive Live Performance ภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการร่วมแสดงกิจกรรมศิลปะแสดงสด ร่องรอยจากการกระทำของพวกเขา ได้ถูกแปรสภาพไปสู่ศิลปะเชิงจัดวาง ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปจนจบนิทรรศการ