𝐖𝐇𝐄𝐑𝐄 𝐀𝐑𝐄 𝐖𝐄 𝐋𝐀𝐍𝐃𝐈𝐍𝐆
ศิลปิน: ราดนี เทียแมน เบลท์ (บันดุง), ทุย-ฮัน เหงียน-ชิ (เบอร์ลิน), อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต (เชียงใหม่), ชิโอริ วาตะนะเบะ (โตเกียว), อู ซาว ยี (กัวลาลัมเปอร์/ไทเป)
คิวเรตโดย พิรญาณ์ อาจวิชัย
นำชมโดยคิวเรเตอร์: 24 พฤษภาคม 2568 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป
🗓 นิทรรศการจัดแสดงระหว่าง: 24 พฤษภาคม – 3 สิงหาคม 2568
📍 สถานที่: เจดับบลิวดี อาร์ทสเปซ, กรุงเทพ
วันทำการ: วันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
วันเปิดนิทรรศการ: 24 พฤษภาคม 2568 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
Where Are We Landing นิทรรศการกลุ่มที่ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ภายใต้บริบทของลัทธิล่าอาณานิคมและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในธรรมชาติและสังคม นิทรรศการยังสำรวจการถอดถอน การต่อต้าน หรือการต่อรองกับอำนาจอาณานิคม ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่มนุษย์เท่านั้น
นิทรรศการหยิบยืมแนวคิดเรื่อง “การมาถึง” (landing) จากหนังสือ Critical Zones: The Science and Politics of Landing on Earth (2020) เพื่อสำรวจประสบการณ์การเดินทางข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยจากสงคราม พืชพลัดถิ่น สัตว์ที่เป็นของขวัญทางการทูต และสัตว์ที่ถูกใช้ในภารกิจทดลองอวกาศ ศิลปินทั้งห้าคนถ่ายทอดเรื่องราวของการพลัดถิ่นผ่านมุมมองของ ‘ผู้กระทำ’ โดยเน้นให้เห็นถึงศักยภาพในการปรับตัว การต่อรอง และความสามารถในการฟื้นคืนระหว่างการเดินทางของพวกเขา การมาถึงเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในดินแดนใหม่ เช่น การปรับตัวของม้าและต้นมะพร้าวที่ถูกนำเข้าสู่ไต้หวันเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ Taiwan Exposition: In Commemoration of the First Forty Years of Colonial Rule ปรากฏอยู่ในผลงานของ อู ซาว ยี ขณะที่ภาพยนตร์ของ ทุย-ฮัน เหงียน-ชิ นำเสนอความทรงจำของแม่ศิลปินในระหว่างการหลบหนีออกจากเวียดนามใต้สู่จังหวัดสงขลา หลังการล่มสลายของกรุงไซง่อน ผ่านการเดินทางสามวันบนเรือประมง ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับโจรสลัดไทยและท้องทะเลสีน้ำเงินอันไร้จุดสิ้นสุดของทะเลจีนใต้
ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างสุดขั้วถูกหยิบยกขึ้นมาผ่านผลงานภาพถ่ายของ ราดนี เทียมัน เบลท์ ซึ่งสำรวจภูมิทัศน์ของจังหวัดเซียเตอร์ในชวาตะวันตก ผ่านประวัติศาสตร์ของต้นชาที่นำเข้าจากเอเชียตะวันออกสู่ประเทศอินโดนีเซียในฐานะไม้ประดับ ก่อนจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในเวลาต่อมา เช่นเดียวกันกับผลงานของ ชิโอริ วาตานาเบะ ที่ติดตามชะตากรรมของปลาบลูกิลล์ 15 ตัวที่ส่งมาจากเมืองชิคาโกไปยังญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2500 ในฐานะของขวัญทางการทูต และความหวังของแหล่งโปรตีนใหม่หลังสงคราม นอกเหนือจากเรื่องราวบนดาวเคราะห์โลก ผลงานของ อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต ตั้งคำถามต่อการล่าอาณานิคมนอกโลก โดยเฉพาะกระบวนการแสวงหาทรัพยากรบนดวงจันทร์ ผ่านบทสนทนาระหว่างทาร์ดิเกรด สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่เคยถูกส่งไปทดลองใช้ชีวิตบนดวงจันทร์
แทนที่จะมองผลพวงของลัทธิล่าอาณานิคมผ่านมุมมองทางภูมิศาสตร์ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางและการเมืองเรื่องพรมแดนเพียงอย่างเดียว นิทรรศการนี้ชวนขยับมุมมองไปสู่แนวคิดเรื่อง Critical Zone ชั้นบาง ๆ เหนือและใต้พื้นผิวโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นิทรรศการ Where Are We Landing จึงเปรียบเสมือนคำถามต่อเส้นทางในอนาคตของโลก ในฐานะเครือข่ายที่ประกอบด้วยทั้งมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยที่แต่ละส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของโลกและรูปแบบการดำเนินชีวิตของเรา
นิทรรศการนี้จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โปรเจกต์ อิเลเวน ฟาวเดชัน และ แคนนอน (ประเทศไทย)
information provided by event organizer