คุณกบ ทรงสิทธิ์ กับชีวิต ศิลปะ และมนต์เสน่ห์ของละครเพลง

บทสัมภาษณ์สุดพิเศษกับคุณกบ ทรงสิทธิ์ ดาราจาก “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล”

โดย ไอน่า สริตา สวอร์ทล์

การแสดง

การแสดง

การแสดง

คุณกบ ทรงสิทธิ์ กับชีวิต ศิลปะ และมนต์เสน่ห์ของละครเพลง

"ละครเวทียังเป็นประสบการณ์ที่สดใหม่ทุกครั้งที่คุณแสดง — มันไม่เคยเหมือนกันเลยในแต่ละคืน"

คุณกบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ศิลปินระดับตำนานของวงการเพลงป๊อปและละครโทรทัศน์ไทย ได้นั่งพูดคุยเกี่ยวกับชีวิต แรงบันดาลใจ เทคนิคการแสดง และผลงานล่าสุดของเขา ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย

คุณกบ ผู้เป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงไทยตั้งแต่ยุค 80 เริ่มต้นจากการเซ็นสัญญากับค่ายซาวด์สเกล ก่อนที่จะย้ายมาสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และออกผลงานเพลงฮิตมากมายในยุค 90 เช่นเพลง "ปาฏิหาริย์" และ "“ขีดเส้นใต้" เสียงร้องที่นุ่มลึกและเพลงรักซึ้งกินใจทำให้เขาเป็นที่รักของแฟนๆ คุณกบยังมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางในสายงานการแสดงจากบทบาทในซิตคอมยอดนิยมเรื่อง 3 หนุ่ม 3 มุม ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2541

ปัจจุบัน คุณกบ รับบทกษัตริย์อาห์เหม็ดในละครเวที ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล โดยแม้ตารางการซ้อมและแสดงจะเต็มแน่น แต่เขาก็สละเวลามาแบ่งปันเรื่องราวการทำงาน การแสดง และประเด็นสำคัญที่ละครเรื่องนี้ต้องการสื่อถึง เช่น การก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม

อะไรคือความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดระหว่างการแสดงบนเวทีกับการแสดงหน้ากล้อง?

คุณกบ: การแสดงในแต่ละสื่อนั้นมีสไตล์ที่แตกต่างกันไป สำหรับภาพยนตร์ จอภาพมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้น การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยหรือสีหน้าที่เล็กที่สุดก็จะมองเห็นได้ชัดเจนจากผู้ชม เช่น น้ำตาที่เอ่อล้นเพียงเล็กน้อยในดวงตาของคุณ ดังนั้น การแสดงสำหรับภาพยนตร์จึงต้องเป็นธรรมชาติที่สุด -- หรือใกล้เคียงกับความเป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับโทรทัศน์ จะยกระดับขึ้นไปอีกขั้น แม้จอโทรทัศน์ตามบ้านจะมีขนาดต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วจอทีวีก็เล็กกว่าจอภาพยนตร์ ดังนั้น คุณต้องแสดงให้ "เหนือจริง" ขึ้นอีกนิด -- หรือพูดอีกอย่างคือ ต้องแสดงให้ใหญ่กว่าชีวิตจริงเล็กน้อย เพราะจอภาพมีขนาดเล็กกว่า

ในทางกลับกัน สำหรับละครเวที ผู้ชมที่นั่งอยู่ในแถวที่อยู่ไกลที่สุดจากเวที หรืออยู่ด้านหลังสุดของโรงละคร ก็ต้องมองเห็นและเข้าใจอารมณ์ของคุณ ดังนั้น คุณต้องแสดงให้ "ใหญ่" ขึ้นอีก ประมาณ 200-300% เพื่อให้ผู้ชมที่แถวหลังสุดสามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังรู้สึก

นี่เป็นความแตกต่างในแง่ของสไตล์การแสดง แต่ก็มีความแตกต่างในแง่วิธีการด้วย เช่น ตอนนี้ -- เราสองคนนั่งคุยกันอยู่ หากถ่ายทำภาพยนตร์ เราจะต้องถ่ายฉากที่คุณพูดบทของคุณก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นถ่ายฉากของผมพูดอีกหนึ่งรอบ จากนั้นถ่ายภาพระยะกลางจากมุมที่ไกลขึ้นอีกเล็กน้อยของคุณ และอีกครั้งของผม สุดท้ายก็ถ่ายภาพมุมกว้างจากด้านฝั่งผม -- อย่างน้อยที่สุดก็หกเทค ซึ่งใช้เวลาเยอะมาก และการแสดงภาพยนตร์จึงเป็นสิ่งที่ยากกว่าและผลิตได้ช้ากว่า แสงต้องปรับให้เหมาะกับทุกเทค และคุณต้องใส่ใจกับความต่อเนื่องในด้านการแสดงอย่างมาก คุณอาจไม่ได้ถ่ายทำฉากตามลำดับเรื่องด้วยซ้ำ เช่น อาจถ่ายตอนจบก่อน ขึ้นอยู่กับสถานที่และตารางการถ่ายทำ ทั้งหมดนี้ใช้ได้กับโทรทัศน์เช่นกัน

แล้วละครเวทีล่ะ? บนเวที เปรียบเหมือนการนับเลขหนึ่งถึงสิบ แล้วก็จบ ในโทรทัศน์และภาพยนตร์ คุณสามารถใส่ฟิลเตอร์เซเปียหรือการ์ดเวลา “สามสัปดาห์ก่อน” แต่ในละครเวที ส่วนใหญ่คุณต้องเล่นเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่มีการหยุดพัก มันไม่ได้หมายความว่าจะน่าตื่นเต้นกว่าเสมอไป แต่จะมีความลื่นไหลมากกว่า

คุณชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับการแสดงละครเวที?

คุณกบ: นอกจากนี้ จากที่ผมพูดถึงเรื่องความต่อเนื่องไปแล้ว ละครเวทียังเป็นประสบการณ์ที่สดใหม่ทุกครั้งที่คุณแสดง — มันไม่เคยเหมือนกันเลยในแต่ละคืน คุณยังได้รับปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ชมทันทีอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การแสดงสนุกขึ้นได้ อย่างในฉากตลก คุณจะได้ยินเสียงหัวเราะทันที หรือในฉากเศร้า ก็จะมีความเงียบสงัดจนแทบไร้เสียงเลยทีเดียว

อย่างในละครเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ตอนที่ณเดชน์ (คูกิมิยะ) ถอดเสื้อและคุณได้เห็นซิกแพคของเขา — ก็จะมีเสียงกรี๊ดสนั่นทั่วทั้งโรง สิ่งแบบนี้แหละที่ทำให้มันสนุก การได้รับปฏิกิริยาตอบสนองแบบทันทีทันใด

ใครเป็นแรงบันดาลใจให้กับการแสดงของคุณ?

คุณกบ: มีหลายคน แต่ที่สำคัญที่สุดคือครูคนแรกของผม คุณม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือครูหม่อมน้อย ที่ให้โอกาสเรียนรู้เทคนิคการแสดงอย่างลึกซึ้ง และเป็นคนสำคัญที่ช่วยสร้างพื้นฐานการแสดงตั้งแต่เริ่มต้น

"สำหรับอคติในตัวเราเอง — มันเกิดขึ้นในตัวเรา และเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะก้าวข้ามมันไป"

ละครเวทนี้เกี่ยวกับคนสองคนที่พยายามเอาชนะความแตกต่าง ไมว่าจะเป็นในแง่วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือทัศนคติเพื่อ มาหล่อหลอมรวมเป็นหนึ่ง คุณคิดว่าในสังคมของเรา เราจะสามารถก้าวข้าม ความแตกต่างเหล่านี้ ได้อย่างไรคะ?

คุณกบ: เรื่องราวที่ละครเวทีเรื่องนี้อ้างอิงถึง จริง ๆ แล้วมีจุดกำเนิดก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในสมัยนั้นมีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติไปทั่ว -- ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติหรือสัญชาติ

แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปแล้ว -- การเลือกปฏิบัติเรื่องเชื้อชาติไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เหมือนเมื่อก่อน ทุกวันนี้ การเลือกปฏิบัติมักจะเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผมอาจเกลียดคุณเพราะคุณมาแย่งงานของผม หรืออย่างบางร้านอาหารที่เราเห็นมีป้ายว่า “ไม่ให้บริการนักท่องเที่ยว” -- เพราะอาจจะเป็นเพราะพวกเขามีลูกค้าอยู่แล้ว และอาจสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากเหตุผลที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติหรือสัญชาติ

สำหรับภาพรวมที่ใหญ่กว่านี้ มันเป็นเรื่องของผู้นำประเทศมากกว่าผม พวกเขามีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในมุมนี้ แต่สำหรับอคติในตัวเราเอง -- มันเกิดขึ้นในตัวเรา และเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะก้าวข้ามมันไป หากใครสักคนไม่ได้มีเจตนาร้ายกับคุณ และไม่ได้ทำร้ายคุณ คุณก็ไม่ควรมีเจตนาร้ายต่อพวกเขา มันง่ายแค่นั้นเอง

"สำหรับละครเพลง มันต้องมีเพลงที่ไพเราะ เข้าใจง่าย ตื่นเต้นพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ชม และดำเนินเรื่องได้รวดเร็วในระดับที่ให้ความรู้สึกครบถ้วน นี่คือองค์ประกอบของเรื่องราวที่ดีทุกเรื่อง"

คุณคิดว่าสูตรสำเร็จสำหรับละครเวทีมิวสิคัลคืออะไร?

คุณกบ: ไม่มีหรอก! ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสูตรสำเร็จสำหรับศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบไหนก็ตาม เราอาจพอเดาได้บ้างว่าอะไรน่าจะเวิร์ก แต่จริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้เลยว่าอะไรทำให้ผลงานหนึ่งกลายเป็นที่นิยม บางครั้งมันก็ขึ้นอยู่กับสังคมในช่วงเวลานั้น เช่น ผู้คนอาจจะไม่สนใจเพลงในตอนนี้ เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกก็เป็นได้ แน่นอนว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งก็มีสูตรเล็ก ๆ ของมัน สำหรับละครเพลง มันต้องมีเพลงที่ไพเราะ เข้าใจง่าย ตื่นเต้นพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ชม และดำเนินเรื่องได้รวดเร็วในระดับที่ให้ความรู้สึกครบถ้วน นี่คือองค์ประกอบของเรื่องราวที่ดีทุกเรื่อง แต่ถ้าถามว่าอะไรทำให้การแสดงนั้นได้รับความนิยม? บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับตัวนักแสดง อย่างในเรื่องนี้ ผมมั่นใจว่าการมีณเดชน์ร่วมแสดงช่วยเพิ่มความนิยมให้กับการแสดง แต่สิ่งอื่น ๆ ล่ะ? ไม่มีใครรู้จริง ๆ หรอก

ละครเวทีในไทยมักจะไม่แสดงต่อเนื่องเกิน 70 รอบในครั้งเดียว โดยปกติแล้วการแสดงที่มีจำนวนรอบมากที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 50 รอบ และอาจนำกลับมาแสดงใหม่ในปีถัดไป ละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล มีการแสดงถึง 101 รอบ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่หายากมาก

สำหรับละครเรื่อง ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล นี้ พอจบการแสดงรอบนี้ก็จะมีการแสดงไปทั้งหมด 82 รอบ

ถ้าถามว่าทำยังไงให้ละครเพลงได้รับความนิยมขนาดนี้ -- อย่างที่ผมพูดไป บางครั้งมันก็ขึ้นอยู่กับนักแสดง อย่างเช่นณเดชน์ แต่ถ้าถามว่ามีณเดชน์คนอื่น ๆ ในวงการไหม? ผมไม่รู้ อาจจะมีก็ได้ในอนาคต แต่สำหรับวันนี้ มันหาได้ยากจริง ๆ

ถ้าต้องเลือกเพลงโปรดเพลงเดียวเพื่อฟังไปตลอดชีวิต คุณจะเลือกเพลงอะไร?

คุณกบ: ผมบอกไม่ได้จริง ๆ! เพราะมันมีเยอะมาก ในฐานะนักร้องและนักดนตรี ผมฟังเพลงหลากหลายแนวมาก ๆ และสิ่งที่ผมชอบฟังก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ในตอนนั้นด้วย เพราะฉะนั้นผมคงบอกไม่ได้ว่าเพลงไหนที่ผมจะเลือกฟังไปตลอดชีวิต

อย่างตอนนี้ที่กำลังทำละครเพลงอยู่ เพลงในละครเพลงหลาย ๆ เพลงจะมีดนตรีประกอบแบบออร์เคสตร้า ดังนั้นทันทีที่ผมขึ้นรถ ผมจะเปิดเพลงร็อกหรือแจ๊ซฟัง เพื่อปรับอารมณ์และเปลี่ยนบรรยากาศให้ตัวเอง มันขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคุณในตอนนั้น -- แบบว่า ใครจะอยากฟังเพลง Jingle Bells ตอนกำลังเศร้าล่ะ จริงไหม?

และคำถามสุดท้าย คุณชอบฉากไหนที่สุดในโชว์ "ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล"?

คุณกบ: ผมคงบอกไม่ได้ ต้องมาดูเองครับ!

เป็นศิลปินระดับตำนานของวงการเพลงไทยจริง ๆ คุณกบได้ทำการแสดงมาแล้วกว่า 30 ปี เขายังคงฝึกฝนทักษะการแสดงและร้องเพลงอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นเวทีเพื่อมอบเสียงเพลงให้กับผู้ชมที่ภักดีตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบละครเพลง คอนเสิร์ต หรือการปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ คุณกบไม่เคยหยุดทำในสิ่งที่เขารัก การแสดงที่เต็มไปด้วยความจริงใจของเขายังคงทำให้ผู้ชมรู้สึกทั้งเศร้าและหัวเราะ ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ไม่มีวันลืมในวงการศิลปะการแสดงไทย

อย่าลืมไปชมการแสดงของคุณกบในละครเวที ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล ซึ่งกำลังจัดแสดงพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2567

MORE STORIES

ถอดรหัสความสำเร็จหนังไต้หวันกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสนุกป่วนโลก

การสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนจากการใช้ “ดิน”

โดย ดร. ขจรศักต์ นาคปาน

Bangkok with Elle

Elle

Photo Essay BAC x RPST

โดย RPST และ BAC EDITORIAL