การสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนจากการใช้ “ดิน”

โดย ดร. ขจรศักต์ นาคปาน

แฟชั่น

แรงบันดาลใจ

ความปรารถนาที่จะเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและแรงบันดาลใจจาก “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” บุคคลผู้เป็นต้นแบบแห่งการพลิกฟื้นทรัพยากรที่เสื่อมสภาพหรือไร้ค่าให้กลับกลายเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ เป็นที่มาของผลงาน “การสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนจากการใช้ “ดิน” (Soil)”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสว่า “...พัฒนา ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมันคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข...” (1970)

ความเจริญ ต้องประกอบทั้งความเจริญทางวัตถุและความเจริญทางจิตใจอันเป็นเอกภาพ ทางวัตถุ ต้องอาศัยปัจจัยด้านวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ผู้มีวิชาความรู้ ส่วนทางจิตใจต้องอาศัยปัจจัยทางศิลปะและศีลธรรมจรรยา ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และสำแดงผลได้ ย่อมต้องอาศัยผู้ถือปฏิบัติศิลปะและศีลธรรมจรรยาเป็นฐาน

นอกจากนั้น แรงบันดาลใจยังมาจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ถึงความหมายของพระนาม “ภูมิพล” ไว้ว่า

“...อันที่จริงเราชื่อ “ภูมิพล” ที่แปลว่า “กำลังของแผ่นดิน” แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน...” (Danai Chanchaochai, 2014)


ขยายผลสู่สิ่งทอทดแทน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทรงงานอย่างหนัก ทรงค้นคิดและนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน ทรงเป็นต้นแบบของการบูรณาการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ผลงาน “การสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนจากการใช้ “ดิน” (Soil)” โดยสังเคราะห์เส้นใยเมลานินชีวภาพในฐานะวัสดุสิ่งทอทดแทนเพื่อออกแบบเครื่องนุ่งห่มแห่งอนาคต ได้ถูกพัฒนาจากแนวคิดดังกล่าว 

ขยายผลจากการศึกษาวงจรความสมบูรณ์และการแปรเปลี่ยนคุณสมบัติของ “ดิน” ในสถานะแร่ธาตุที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปผ่านกระบวนการทดลองสังเคราะห์เส้นใยธรรมชาติ (หรือเซลลูโลสชีวภาพที่มีคุณค่า) และเม็ดสีเมลานินอันได้มาจากการแบคทีเรียชั้นดีในดิน ให้กลายเป็นวัสดุสิ่งทอทดแทน เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างหรือมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผลลัพธ์คือวัสดุสิ่งทอทดแทนมีความเป็นมิตรกับร่างกายและการสวมใสเมื่อหมดประโยชน์หรืออายุขัยสามารถย่อยสลายและกลับคืนสู่ธรรมชาติ

สัมพันธภาพใหม่

หากเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์แห่งอนาคตได้รับการสร้างสรรค์โดยวิธีการบูรณาการระหว่างปรัชญาสุนทรียศาสตร์กับนวัตกรรม วัสดุสิ่งทอทดแทนที่ถูกนำมาออกแบบเครื่องนุ่งห่มนี้จักมิได้มุ่งเน้นเพียงแค่การผลิตเพื่อปกป้องร่างกายหรือเพื่อตอบสนองความต้องการสื่อสารถึงฐานะหรือบุคลิกภาพของผู้สวนใส่เท่านั้น แต่ยังสามารถสื่อถึงสุนทรียะแห่งความเคารพตัวตนขั้นพื้นฐานอันแสดงออกถึงสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้น เมื่อมนุษย์สัมผัสและรับรู้ถึงคุณค่าของตนเองผ่านประสบการณ์การรับรู้ที่มีต่อนวัตกรรมวัสดุซึ่งเปรียบได้ดังตัวกระตุ้นให้เกิดพลังในการดำรงชีวิตประสิทธิผลของการออกแบบจักสะท้อนปัญญาแก่มนุษยชาติ เสมือนกระจกทรงกลมและส่องให้ทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อคุณค่าของตนเอง สุกสว่าง


วันดินโลก

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรฯ เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) และยังประกาศให้ปี ค.ศ. 2015 เป็น “ปีดินสากล” (International Year of Soils) ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นพระมหากษัตริย์ “คลุกอยู่กับดิน” สมดังพระนาม ก็เป็นที่ประจักษ์ใจคนทั้งโลก สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (United Nations, 2013) จึงได้ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” พระองค์แรกของโลก เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2012



MORE STORIES

รสชาติของฤดูใบไม้ร่วงแสนสวยและอร่อยที่ MAD BEEF

Bangkok Art City

Bangkok with Elle

Elle

Photo Essay BAC x RPST

โดย RPST และ BAC EDITORIAL

หอศิลป พีระศรี :

โดย ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต