นิทรรศการ

Decentralized Thainess : สลายศูนย์

โศภิรัตน์ ม่วงคำ

วันที่:

8 - 30 มิ.ย. 2567

“ความเป็นไทยคืออะไร?” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชมตั้งคำถามถึง “ความไม่เป็นไทย” ในผลงานภาพถ่ายของ โศภิรัตน์ ม่วงคำ ช่างภาพนู้ดหญิงชาวไทย ถึงแม้เธอจะเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง และถูกเลี้ยงดูในกรอบของขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันดีงาม แต่ด้วยธรรมชาติส่วนตนที่เป็นคนชอบคิด ชอบตั้งคำถาม เสาะหาเหตุผลถึงสิ่งรอบตัว แต่ไม่สามารถแสดงออกด้วยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของครอบครัวและ “ความเป็นลูกที่ดี" ที่กดบ่าเธอไว้ให้อยู่ภายใต้สัมภาระแห่งความเป็นไทย (ที่ถูกที่ควร) จนกระทั่งเธอมีโอกาสไปร่ำเรียนในต่างประเทศ และสัมผัสกับสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เปิดกว้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก สัมภาระที่ว่านั้นจึงค่อยๆ คลี่คลายและถูกปลดออกไปจากจิตใจเธอในที่สุด แต่ถึงกระนั้น เมื่อเดินทางกลับมาอาศัยและทำงานในเมืองไทย คำถามที่ว่านี้ก็ยังคงค้างคาและฝังลึกอยู่ในหัวเธอตลอดมา และถูกกระตุ้นให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งกับคำถามถึงความไม่เป็นไทยในผลงานของเธอ 

เหตุการณ์นี้ทำให้โศภิรัตน์หวนกลับมาค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นไทยอีกครั้ง เธอตั้งข้อสงสัยว่า ความเป็นไทยที่แท้ นั้นเกิดจากอะไรกันแน่? เพราะภายในประเทศหนึ่ง ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลหลายแสนตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ มีประชากรมากมายหลายสิบล้านคน ผู้มีความเป็นปัจเจกชน มิใช่หุ่นยนต์ที่ถูกผลิตซ้ำจากระบบอุตสาหกรรม ย่อมต้องเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายของบุคลิก ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ไปจนถึงเพศสภาพ เพศภาวะ และเพศวิถี เราจะสรุปรวมความเป็นตัวตนของชนชาติหนึ่งด้วยคุณลักษณะไม่กี่ประการได้ด้วยหรือ?

สิ่งนี้ทำให้เธอตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว ความเป็นไทย ที่แท้จริงอาจไม่มีอยู่จริง หากแต่เป็นกรอบความคิด หรืออันที่จริง มายาคติ (Mythology) ที่ภาครัฐประกอบสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้โครงสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) เพื่อความสะดวกในการบริหารประเทศ ถึงแม้โครงสร้างการปกครองเช่นนี้จะมีส่วนในการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนในการลดทอนหรือ

แม้แต่ทำลายความหลากหลาย ทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หรือแม้แต่ความเชื่อและศาสนา ด้วยการคัดทิ้ง กีดกัน หยามเหยียด และแปลกแยกผู้คนที่แตกต่างจากความเป็นศูนย์กลางให้กลายเป็นอื่น ไม่ใช่ความเป็นไทยอันดีงาม หรือ ความเป็นไทยอันเที่ยงแท้แต่โบราณ ตามที่ภาครัฐนิยามไว้ ทั้งที่ในภูมิภาคอื่นๆ หลายภูมิภาคจะมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา หรือแม้อารยธรรมเก่าแก่กว่าภาคกลางหลายเท่าด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ภาษา ที่นับวันคนรุ่นใหม่ในแต่ละภูมิภาค จะสามารถพูดภาษาท้องถิ่นของตัวเองได้น้อยลงเรื่อยๆ จากการศึกษาภาคบังคับที่ใช้หนังสือตำราแบบเรียนเล่มเดียวกัน การเรียนการสอนแบบเดียวกัน ตามที่ภาครัฐกำหนด นับเป็นความสูญสลายในความหลากหลายทางภาษาและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างน่าใจหายยิ่ง

ด้วยความสงสัยที่ว่านี้นี่เอง ทำให้โศภิรัตน์ตัดสินใจเดินทางไปเยือนหลายภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสำรวจอัตลักษณ์ ตัวตน ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ความเชื่อ และความศรัทธา ของผู้คนในแต่ละภูมิภาค ที่ถูกบดบังอยู่ภายใต้มายาคติของรัฐรวมศูนย์ 

ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือที่ถูกเหมารวมว่ามีอุปนิสัยเหนียมอาย ไม่กล้าแสดงออก และไร้ความทะเยอทะยาน หรือภาคอีสานที่ถูกเหยียดหยามว่ายากจน และด้อยพัฒนา และภาคใต้ที่ถูกตัดสินว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง และท้ายที่สุด ภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่ยกตัวเองให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ

ในการเดินทางไปเยือนภูมิภาคเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้มายาคติแห่งความเป็นไทยแล้ว โศภิรัตน์ยังใช้ภาพถ่ายนู้ดของเธอเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการลบเลือนอคติ ปลดเปลื้องสัมภาระแห่งมายาคติที่กดทับบ่าของเธอและผู้คน และเปลือยเปล่าพันธนาการทางความคิด เพื่อ “สลายศูนย์” ของการรวมอำนาจ ที่เคยกีดขวางและทำลายความแตกต่างหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่กันและกันของผู้คนในสังคมได้ในที่สุด

เกี่ยวกับศิลปิน
โศภิรัตน์ ม่วงคำ หรือ “ผู้หญิง ถือกล้อง” ช่างภาพนู้ดหญิงรุ่นใหม่มาแรงของเมืองไทย ผู้สนใจในความเป็นมนุษย์ เรื่องราวของผู้คน ธรรมชาติ ไปจนถึงวัฒนธรรมย่อย และสถานการณ์ในสังคมไทย เธอมักได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของผู้คน ธรรมชาติ สัตว์ต่างๆ ไปจนถึงวัฒนธรรมย่อย และสถานการณ์ในสังคมไทย และค้นหาคำตอบของชีวิตผ่านผลงานที่เธอทำในแต่ละช่วงเวลา ในปี 2019 เข้าร่วมในโครงการศิลปินพำนักหลายแห่งในประเทศไทย ด้วยความต้องการทำการค้นคว้าและร่วมงานกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อค้นหาว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง

ผลงานของโศภิรัตน์ ไม่ใช่แค่เพียงภาพถ่ายนู้ดที่เปลื้องเปลือยผิวหนังและร่างกายของมนุษย์ให้เห็นแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการผสมผสานความเป็นศิลปะ แนวคิด และศิลปะแห่งการดึงตัวตนของผู้คน และมุ่งเน้นในการปลดเปลื้องมายาคติแห่งความอับอายในร่างกายตัวเองของผู้คน ผลงานหลายชิ้นของเธอแสดงออกถึงตัวตนอันหลายหลากของนายและนางแบบเหล่านั้น และบ่งบอกเรื่องราวที่ซ่อนเร้นของพวกเขาผ่านผิวหนัง ท่วงท่า และแสงสีอันซับซ้อนละเอียดอ่อนของงานภาพถ่าย.

เปิดให้เข้าชม วันที่ 8-30 มิถุนายน มีนาคม 2567 ที่ 333Gallery / warehouse 30
นิทรรศการนี้จำกัดผู้เข้าชม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และ ต้องลงทะเบียนในการเข้าชมทุกท่าน
Registration:
https://forms.gle/erYTU1ERDRF2ZFFd6
แกลลอรี่เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 น. – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)

information provided by event organizer

333แกลเลอรี่/แวร์เฮาส์ 30

โครงการแวร์เฮาส์ 30 (ห้อง 5) ซ.เจริญกรุง 30 เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

โซน

2

อ. - อา. 11:00-18:00 (หยุดวันจันทร์)

BTS: สะพานตากสิน MRT: หัวลำโพง

333แกลเลอรี่/แวร์เฮาส์ 30

โครงการแวร์เฮาส์ 30 (ห้อง 5) ซ.เจริญกรุง 30 เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

โซน

2

อ. - อา. 11:00-18:00 (หยุดวันจันทร์)

BTS: สะพานตากสิน MRT: หัวลำโพง

MORE LIKE THIS

8 Seconds: นิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียน

นิโก้ เซเป้ x 10 ศิลปินในโครงการภาษาแห่งจิตวิญญาณ

นิโก้ เซเป้ x 10 ศิลปินในโครงการภาษาแห่งจิตวิญญาณ

นิโก้ เซเป้ x 10 ศิลปินในโครงการภาษาแห่งจิตวิญญาณ

A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture

นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ และ ปิยลักษณ์ เบญจดล

นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ และ ปิยลักษณ์ เบญจดล

นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ และ ปิยลักษณ์ เบญจดล

รูปโคจร

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ปรัชญา พิณทอง, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์, และสรวิศ ทรงสัตย์

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ปรัชญา พิณทอง, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์, และสรวิศ ทรงสัตย์

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ปรัชญา พิณทอง, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์, และสรวิศ ทรงสัตย์

PLUTO NEPTUNE 7 10 40 54

โลเล ทวีศักดิ์, แพร นัดดา, โรมัน และ นินจา

โลเล ทวีศักดิ์, แพร นัดดา, โรมัน และ นินจา

โลเล ทวีศักดิ์, แพร นัดดา, โรมัน และ นินจา